พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร

เคยเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทรคมนาคมและการสื่อสารขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[6] อดีตข้าราชการตำรวจ อดีตเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแห่งประเทศกัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน และอดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา มีสัญชาติไทยโดยการเกิด เคยถือสัญชาตินิการากัว[7][8] ปัจจุบันถือสัญชาติมอนเตเนโกร[9]
พ.ศ. 2537 พันตำรวจโท ทักษิณ เข้าสู่วงการเมือง สังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ต่อมาจึงก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ใน พ.ศ. 2541 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก สำหรับงานการเมือง พันตำรวจโท ทักษิณ ใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดเดิม[10] และดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดความยากจนในชนบท โดยสามารถลดความยากจนได้ถึงครึ่งหนึ่งภายในสี่ปี[11][12] ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นครั้งแรกของประเทศ คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค[13] ตลอดจนการกวาดล้างยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง[14] พันตำรวจโท ทักษิณ เริ่มดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ รวมทั้งถนน การขนส่งมวลชน และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หนี้สาธารณะลดลงจากร้อยละ 57 ของจีดีพี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 เหลือร้อยละ 41 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549[15][16] รวมทั้งระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงลดลง โดยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เพิ่มขึ้นจาก 3.2 เป็น 3.8 ระหว่าง พ.ศ. 2544 และ 2549[17] พันตำรวจโท ทักษิณ ดำรงตำแหน่งจนครบวาระสี่ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดำรงตำแหน่งจนครบวาระเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ และจากผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้พันตำรวจโท ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์[18][19]
อย่างไรก็ดี รัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน การฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน ดำเนินการไม่เป็นอย่างการทูต และควบคุมสื่อ[20] ส่วนพันตำรวจโท ทักษิณเอง ก็มีข้อกล่าวหาว่าหลีกเลี่ยงภาษี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจนขายทรัพย์สินของบริษัทไทย ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ[21][22] องค์การนิรโทษกรรมสากลวิพากษ์วิจารณ์พันตำรวจโท ทักษิณ จากประวัติเชิงสิทธิมนุษยชน พันตำรวจโท ทักษิณยังถูกกล่าวหาว่า ปกปิดทรัพย์สินระหว่างดำรงตำแหน่ง[23]
การประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2549 และวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน คณะทหารซึ่งภายหลังเรียกตนเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ขณะที่พันตำรวจโท ทักษิณอยู่ต่างประเทศ ศาลที่คณะทหารแต่งตั้งนั้น ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยด้วยข้อหาโกงการเลือกตั้ง พร้อมทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมือง พันตำรวจโท ทักษิณ และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นเวลาห้าปี[24] คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คมช.แต่งตั้งขึ้นนั้น อายัดทรัพย์สินของพันตำรวจโท ทักษิณ และครอบครัวในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขาร่ำรวยผิดปกติ ขณะอยู่ในตำแหน่ง[25][26] พันตำรวจโท ทักษิณและภรรยา ประกาศทรัพย์สินรวม 15,100 ล้านบาท เมื่อเขาเข้าดำรงตำแหน่งใน พ.ศ. 2544 แม้เขาจะโอนทรัพย์สินจำนวนมาก ไปยังบุตรและคนสนิท ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งก็ตาม[27]
พันตำรวจโท ทักษิณ เคยเดินทางกลับประเทศไทยครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังพรรคพลังประชาชนที่เขาสนับสนุน ชนะการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร แต่หลังจากเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 พันตำรวจโท ทักษิณไม่ได้เดินทางกลับไทย เพื่อฟังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และขอลี้ภัยในสหราชอาณาจักรแต่ถูกปฏิเสธ พันตำรวจโท ทักษิณจึงต้องเดินทางจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ศาลคดีการเมืองตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 2 ปี จากคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก[28] พันตำรวจโท ทักษิณเป็นผู้สนับสนุน และถูกมองว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนเงินทุน อยู่เบื้องหลังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) [29][30] ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลขณะนั้น เพิกถอนหนังสือเดินทางของพันตำรวจโท ทักษิณ โดยอ้างว่ามีบทบาทในกลุ่ม นปช.ระหว่างเหตุการณ์ไม่สงบช่วงสงกรานต์[31][32][33] ศาลคดีการเมืองวินิจฉัยให้ทรัพย์ของพันตำรวจโท ทักษิณ และคนใกล้ชิด มูลค่าราว 46,000 ล้านบาท จากที่ คตส.อายัดไว้ 76,000 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น